เกี่ยวกับเรา
กว่าจะมาเป็นหอมนสิการ
โครงการ “หอมนสิการ” เกิดขึ้นตามดำริของอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ประธานมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา เพื่อการสืบสานธรรม ปกป้องพระเกียรติพระบรมศาสดาและปลุกจิตสำนึกที่ดีงามให้แก่ปวงชน
ภายในหอมนสิการเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระบรมโลกนาถ พระบรมสารีริกธาตุ ภาพปักพระบรมโลกนาถและนิทรรศการร่วมสมัย จำลองมรรคาและคำสอนของพระบรมศาสดา
กว่าจะมาเป็นหอมนสิการแบบที่ทุกท่านได้เห็นนั้น ได้ผ่านการออกแบบ ก่อสร้าง ตกแต่งและจัดทำนิทรรศการภายในซึ่งใช้เวลารวมทั้งหมด 5 ปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หอมนสิการมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
นับตั้งแต่เปิดตัวไม่นาน หอมนสิการได้ก้าวขึ้นสู่อันดับต้น ๆ ของสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องไปในปี 2565 อย่างรวดเร็ว เป็น 1 ใน 9 ที่เที่ยวสระบุรี 2566 เปิดใหม่ จุดถ่ายรูปสวย ๆ และได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใครที่มอบความสุขทั้งทางกายและทางใจ ในส่วนของนิทรรศการก็ได้รับเสียงชื่นชมมากมายทั้งจากพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนถึงรูปแบบการนำเสนอที่ทำให้พวกเขา “เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าภายใน 15 นาที” และ “รู้สึกผูกพันมาก”
หอมนสิการได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 25 สถานที่ท่องเที่ยวสุดอันซีน ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยได้รับคะแนนโหวตสูงสุดเป็นอันดับ 1 จากแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด 77 แห่ง จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งจะต้องมีเกณฑ์คุณสมบัติสำคัญ ได้แก่ การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเรื่องราวน่าสนใจ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง, มีศักยภาพหลากหลายและสวยงาม, มีระบบการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ดี, มีการเดินทางเข้าถึงได้สะดวก และไม่เคยได้รับการคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยว อันซีนโครงการอื่นๆมาก่อน
จากแบบร่างสู่การก่อสร้าง
การออกแบบและการดำเนินงานก่อสร้างหอมนสิการ เริ่มขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 2560 โดยท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลและศิษย์ทีมงานจิตอาสาผู้มีความรู้ความสามารถจากทุกๆ สาขาอาชีพทั้งศิลปิน นักออกแบบ สถาปนิก วิศวกร ผู้ผลิตภาพยนตร์ นักแสดง ช่างภาพ และอีกหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมเป็นทีมงานผลักดันโครงการ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสรรเสริญ เทิดพระเกียรติ และตอบแทนพระคุณพระบรมศาสดาและพระพุทธศาสนาอย่างสูงสุด
สถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลและศิษย์ทีมงานได้ร่วมประชุม วางแผน เดินทางไปดูสถาปัตยกรรม โบราณสถานหลายแห่งเพื่อเป็นไอเดียในการออกแบบอาคารหอมนสิการให้มีความสง่างาม ทว่าคงความร่วมสมัย และยังจิตให้ผู้พบเห็นเกิดความนอบน้อมต่อพระบรมศาสดาอย่างสูงสุด และเพิ่มความอ่อนช้อยวิจิตรบรรจงด้วยลวดลายปูนปั้นหัวเสา หน้าบัน ที่ออกแบบผูกลายขึ้นใหม่ จากศิลปะอินเดีย วิกตอเรียและสุโขทัย โดยคุณนาคนิมิตร สุวรรณกูฏ ศิลปินและนักออกแบบผู้มีชื่อเสียง อีกทั้งเครื่องยอดของหอมนสิการจะประดับด้วยยอดฉัตรทอง เพื่อความสมพระเกียรติแห่งพระบรมศาสดา และการปกป้องพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไปถึง 5,000 วรรษา